วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคนิคการสร้างภาพกราฟิก

:: 3.  เทคนิคการสร้างภาพกราฟิก ::
            การ สร้างภาพกราฟิกด้วยคอมพิวเตอร์มีเทคนิคอยู่สองวิธี  คือ  กราฟิกแผนที่บิต (bitmapped graphics)  หรือกราฟิกแรสเตอร์ (raster graphics)  หรือกราฟิกจุดภาพ (pixel graphics) และกราฟิกเส้นสมมติ (vector graphics)  หรือกราฟิกเชิงวัตถุ (object – oriented graphics)  

3.1  กราฟิกแผนที่บิตหรือภาพแบบบิตแมป (bitmapped graphics)
             โปรแกรมสำหรับสร้างภาพโดยใช้เทคนิคกราฟิกแผนที่บิต  ซึ่งทั่วไปเรียกว่า  โปรแกรมระบายสี (paint program)  จะสร้างและเก็บภาพกราฟิกไว้ในรูปแบบของจุดบนจอภาพ (screen pixels)  ซึ่งเรียงต่อกัน  โดยแต่ละจุดภาพ (pixels)  จะแยกกันยู่ในตำแหน่งหน่วยความจำอย่างอิสระ  มีลักษณะประจำของจุดแต่ละจุด  เช่น  สี  ความเข้มแสง  จึงทำให้สามารถปรับแต่งสีได้อย่างสวยงาม  แต่เนื่องจากการเรียงต่อของจุดภาพอยู่ในลักษณะตาราง  ภาพที่ได้จึงมีรอยหยักที่เกิดจากรูปสี่เหลี่ยมของจุดแต่ละจุด  จะเห็นได้ชัดเมื่อรูปนั้นประกอบด้วยเส้นโค้งหรือเส้นทแยง และจะชัดเจนขึ้นเมื่อปรับขยายภาพขึ้น
รูปที่ 3.1  ตัวอย่างภาพแผนที่บิตเมื่อขยาย  700 เท่า
          ภาพที่สร้างด้วยวิธีนี้  พบได้ทั่วไปจากภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัล  ภาพจากเครื่องกราดตรวจ  วีดิโอเกม  ภาพยนตร์  กระดานอิเล็กทรอนิกส์  ภาพการ์ตูน  งานโฆษณาทั่วไป

ข้อดีของกราฟิกแผนที่บิต
           •  สามารถเก็บรายละเอียดของภาพให้มีสีสันต่าง ๆ ได้ดีกว่า เหมาะสำหรับภาพที่ต้องการระบายสี สร้างสี หรือกำหนดสีที่ต้องการความละเอียด สวยงามได้ง่าย
           •  สามารถตกแต่งภาพและเพิ่มรายละเอียดพิเศษที่น่าสนใจ  เช่น  ปรับความเข้มแสง  ปรับแต่งสี  แรเงา
ข้อเสียของกราฟิกแผนที่บิต
           •  สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บแฟ้มภาพ
           •  การประมวลผลภาพบางอย่างมีข้อจำกัด  เช่น  การหมุนภาพ  การปรับขนาดหรือสัดส่วนภาพถ้านำภาพมาขยาย ความสวยงามจะลดลง แต่ถ้าเพิ่มความละเอียด จะทำให้ภาพมีขนาดใหญ่

3.2  กราฟิกเส้นสมมติหรือภาพแบบเวกเตอร์ (vector graphics)
             โปรแกรมสำหรับสร้างภาพที่ใช้เทคนิคกราฟิกเส้นสมมติโดยทั่วไปเรียกว่า  โปรแกรมวาดภาพ (draw program)  จะสร้างและเก็บข้อมูลภาพกราฟิกไว้ในรูปแบบสูตรทางคณิตศาสตร์ที่บอกตำแหน่ง ของเส้นหรือจุดและความสัมพันธ์ว่า  จุดใดหรือเส้นใดเชื่อมโยงกันบ้าง  จึงสามารถปรับขนาดของภาพไดง่าย  และไม่ทำให้เสียรูปทรง  ภาพที่ใช้เทคนิคนี้จึงประกอบด้วยวัตถุที่เห็นได้ชัดเจน  เช่น  เส้น  วงกลม  วงรี  และรูปเหลี่ยมต่าง ๆ 
รูปที่ 3.2  การขยายขนาดของชุดแบบอักษร
             ภาพที่สร้างโดยใช้เทคนิคนี้  พบได้ในงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม  วิศวกรรม  การร่างโครงร่างต่าง ๆ งานวิทยาศาสตร์  งานออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย  และงานที่ต้องการภาพที่มีสัดส่วนแน่นอน

ข้อดีของกาฟิกเส้นสมมติ
             •  การจัดเก็บสิ้นเปลืองเนื้อที่น้อยกว่ากราฟิกแผนที่บิตมาก
             •  การประมวลผลบางอย่างเช่น การย่อขยายเปลี่ยนแปลงขนาดได้โดยความละเอียดไม่ลดลง การหมุนจะทำได้ดีกว่า
ข้อเสียของกราฟิกเส้นสมมติ
             •  ไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสีสันต่าง ๆ ได้ดี  เนื่องจากเก็บในรูปแบบสูตรของเส้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น